คำถามที่พบบ่อย
1. พิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้บริการเรื่องใดบ้าง?
ตอบ 1.1 ให้บริการรับฝาก/จัดทำ ตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย
1.2 ให้บริการเทียบเคียงตัวอย่างพรรณไม้
1.3 ให้บริการศึกษาดูงาน และเป็นแหล่งฝึกงานแก่นิสิต นักศึกษา
2. ขั้นตอนการจัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย (Voucher Specimens)?
ตอบ 2.1 ติดต่อภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการรับตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย ศึกษาวิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ เพื่อใช้ในการอ้างอิงงานวิจัยแต่ละประเภทโดยละเอียดก่อนดำเนินการวิจัย
2.2 จัดทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย จากหน่วยงานต้นสังกัด โดยหนังสือเรียนถึงอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
2.3 ผู้วิจัยเก็บตัวอย่างจากต้นพืชที่นำไปประกอบการวิจัย อย่างน้อยต้นละ 1 ชิ้น โดยชิ้นตัวอย่างต้องประกอบด้วย กิ่งที่มีใบที่สมบูรณ์ ดอก และ/หรือ ผล นำมาอัดให้แห้ง โดยจัด (set) และตัดแต่งตัวอย่างลงในกระดาษหนังสือพิมพ์ ตัวอย่างต้องมีขนาดกว้าง-ยาว ไม่เกิน 25 x 42 ซม. และแสดงส่วนต่างๆ ชัดเจน ได้แก่ ใบทั้งด้านหน้าและหลัง ดอกและ/หรือผลที่ไม่ถูกส่วนอื่นปิดบัง
2.4 ผู้วิจัยเลือกตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุด จัดอัดแห้งเรียบร้อย และติดป้ายหมายเลขผู้เก็บ (Tag) ชนิดละ 1-2 ชิ้น อัดใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ พร้อมแนบแผ่นบันทึกข้อมูลภาคสนาม (label) โดยไม่ต้องอาบน้ำยาหรือเย็บตัวอย่างพรรณไม้
2.5 ผู้วิจัยต้องบันทึกข้อมูลภาคสนาม โดยระบุรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้
2.5.1 ชื่อวงศ์พืช (Family)
2.5.2 ชื่อวิทยาศาสตร์พืช (Botanical name)
2.5.3 ชื่อพื้นเมือง (Local name ชื่อเรียกในท้องถิ่นที่เก็บพืชนั้น)
2.5.4 วัน เดือน ปี ที่เก็บ (Date Month Year)
2.5.5 สถานที่เก็บ (Locality) และ/หรือระดับความสูงจากน้ำทะเล (Altitude)
2.5.6 ถิ่นที่อยู่ (Habitat) เช่น สภาพพื้นที่ จำนวนที่พบ
2.5.7 บันทึกข้อมูล (Note) ลักษณะต่าง ๆ ของพืชที่ไม่สามารถเห็นได้เมื่อตัวอย่างแห้ง เช่น ความสูงทั้งต้น เปลือก น้ำยาง กลิ่น สีของดอกและผล เป็นต้น
2.5.8 ชื่อ และ หมายเลขผู้เก็บ (Collector name, Collector number)
2.5.9 ระบุว่าเป็น voucher specimenห ของการวิจัยเรื่องใด
2.6 นำส่งสำนักงานวิจัยการแพทย์แผนไทย โดยผู้วิจัยควรระบุสถานที่ติดต่อให้ครบถ้วน เพื่อจะได้แจ้งผลการดำเนินการพร้อมหมายเลขทะเบียนของหอพรรณไม้ (BKF number) ให้ทราบต่อไป
หมายเหตุ ตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีดอก ผล หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้างต้น พิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาไม่รับตัวอย่างดังกล่าว
3. การทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์จัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัยต้องเรียนถึงใคร?
ตอบ การทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์จัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัยให้เรียนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
4. ตัวอย่างที่จะส่งมาเป็นตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย (voucher specimens) เพื่อขอหมายเลขอ้างอิงงานวิจัย ต้องเตรียมอย่างไร?
ตอบ ตัวอย่างที่จะส่งมาขอหมายเลขอ้างอิงงานวิจัยจะต้องเป็นตัวอย่างที่ประกอบด้วยกิ่งที่มีใบสมบูรณ์ มีดอกและ/หรือผลที่สมบูรณ์ โดยจัดและตัดแต่งตัวอย่างลงในกระดาษหนังสือพิมพ์ มีขนาดกว้าง-ยาว ไม่เกิน 25 x 42 ซม. และเห็นส่วนต่างๆ ชัดเจน ได้แก่ ใบทั้งด้านหน้าและหลัง ดอก-ผล ที่ไม่ถูกส่วนอื่นปิดบัง และจะต้องบันทึกข้อมูลภาคสนาม โดยระบุรายละเอียดดังนี้
🌱ชื่อวงศ์พืช (family)
🌱ชื่อวิทยาศาสตร์ (botanical name)
🌱ชื่อพื้นเมือง (local name)
🌱วัน เดือน ปี ที่เก็บ (date/month/year)
🌱สถานที่เก็บ (locality) ถิ่นที่อยู่ (habitat)
🌱บันทึกข้อมูล (notes) ลักษณะต่าง ๆ ของพืชที่ไม่สามารถเห็นได้เมื่อตัวอย่างแห้ง เช่น ความสูงทั้งต้น เปลือก น้ำยาง กลิ่น สีของดอกและผล เป็นต้น
🌱ชื่อและหมายเลขผู้เก็บ (collector name, collector number) และระบุว่าเป็น voucher specimen ของการวิจัยเรื่องใด
5. พิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีบริการรับตรวจสอบชนิดหรือพันธุ์พืชหรือไม่?
ตอบ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังไม่ได้เปิดให้บริการตรวจสอบชนิดหรือพันธุ์พืช เนื่องจากจำนวนบุคลากรมีอย่างจำกัดและยังขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะในการตรวจสอบชนิดพืช จึงทำให้ยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการตรวจสอบชนิดหรือพันธุ์พืชได้